วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

กาหลอ

กาหลอ
เป็นการละเล่นของชาวปักษ์ใต้อีกอย่างหนึ่ง เท่าที่พบในพัทลุง จะเป็นดนตรีที่ใช้ละเล่นหรือประโคมในงานศพ ในหนังสือพจนะสารานุกรมของ อาจารย์เปลื้อง ณ นคร ได้ให้ความหมายของกาหลอไว้ว่า " กาหลอเป็นดนตรีชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับประโคมในงานศพ " แต่มีบางท่านกล่าวว่า " กาหลอเป็นงานแห่ในวันสงกรานต์ เพื่อความรื่นเริง และแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อผู้บังเกิดเกล้าของตน " อาจารย์ฤตวิทย์ ดวงสร้อยทอง เขียนเรื่อง " กาหลอดนตรีงานศพ " ในวารสาร มศว.สงขลา ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 เอาไว้ตอนหนึ่งว่า " กาหลอเป็นการละเล่นประกอบเครื่องดนตรี ซึ่งมักจะเล่นเฉพาะในงานศพ ทำนองเดียวกันกับการสวดคฤหัสถ์หรือสวดมาลัย เข้าใจว่าคงนิยมเหมือนกับการเล่นซอพื้นเมืองของภาคเหนือ ซึ่งเดิมก็เล่นเฉพาะในงานศพ การเล่นเป็นการเล่นที่สนุกสนาน และต้องมีฝีมือในการร้อง และดนตรีโดยเฉพาะปี่กาหลอเป็นพิเศษ "ความเป็นมาของกาหลอ ความเชื่อเรื่องกาหลอ หรือตำนานกาหลอในหนังสือ " ตะลุง " ของ อาจารย์สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ กล่าวเอาไว้ว่า " มีการละเล่นอีกอย่างหนึ่งที่น่าจะได้มาจากชาวมลายู ยุคอารยะธรรมฮินดูเจริญเช่นกัน คือ การเล่น " กาหลอ " ซึ่งเป็นดนตรีบรรเลงแต่เฉพาะงานศพเท่านั้น คำว่า " กาหลอ " น่าจะมาจาก " กาล " หรือ " พระกาฬ " ( สำเนียงมลายูถิ่น จะออกเสียงเป็นกาลอ ) หมายถึงพระอิศวร ซึ่งเป็นเทพแห่งความตาย คู่กับเจ้าแม่กาลี ( ชาวภาคใต้เรียกคู่กันว่า กาหลา กาหลี ) เครื่องดนตรีก็เป็นแบบมลายู แต่ไม่พบว่ามลายูเล่นดนตรีแบบนี้ ในยุคศาสนาอิสลาม เพราะประเพณีของอิสลาม จะไม่เก็บศพไว้จนค้างคืน ตายวันไหนรีบนำไปฝังวันนั้น " จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า เดิมรับมาจากชวา มลายู แต่ตอนหลังเขาเลิกเล่น แต่ของไทยยังคงรักษาไว้ได้ ตำนานกาหลอซึ่งเล่าโดยผู้เล่นกาหลอ 2 ท่าน คือ นายเนื่อง เย็นทั่ว ต.หานโพธิ์ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง กับ นายเพิ่ม เย็นทั่ว ต.ควนขนุน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ในเรื่อง " กาหลอดนตรีงานศพ " ของ อาจารย์ฤตวิทย์ ดวงสร้อยทอง ตามที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า " เชื่อกันว่า กาหลอเป็นเสียงฆ้องกลองสวรรค์ ทั้งนี้เพราะมีความเชื่อกันว่า สมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ณ วัดแห่งหนึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ จากลานวัดมีบันไดทอดลงไปในแม่น้ำ สำหรับพระภิกษุชำระร่างกาย มีเด็กวัด 2 คนเป็นเด็กซุกซนมาก ชอบมาใช้บันไดท่าน้ำมากกว่าคนอื่น ๆ พระอธิการวัดได้ห้ามปรามแล้ว แต่เด็กไม่เชื่อฟัง ท่านจึงนำเอา " หลาว " ไปปักไว้ แต่เด็กที่ไปเล่นที่ท่าน้ำก็มิได้ถูกหลาวตำ ต่อมา พระอธิการรู้สึกร้อนจัด ได้กระโดดลงไปในน้ำทันที โดยลืมเรื่องหลาวที่ท่านปักเอาไว้ หลาวอันนั้นก็ตำถูกตรงหน้าอกท่าน พระภิกษุลูกวัดได้พยายามช่วยเหลือแต่ไม่สำเร็จ จึงไปทูลพระพุทธเจ้า ๆ จึงเสด็จไปดึงพระอธิการพร้อมหลาวเหล็กขึ้นมา และเรียกประชุมสงฆ์ภายในวัดนั้น เพื่อแสดงภูมิรู้และพระธรรมวินัย เมื่อทราบถึงความรู้ความสามารถของพระภิกษุ พระพุทธองค์จึงทรงแต่งตั้งภิกษุเหล่านั้นตามความรู้ความสามารถ คือ เป็นท่านกาแก้ว ท่านการาม ท่านกาชาด และท่านกาเดิม ( ตำแหน่งทั้ง 4 เป็นตำแหน่งพระครูผู้ช่วยรักษาพระบรมธาตุทั้ง 4 ทิศ โดยเชื่อว่า พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ทรงเป็นผู้แต่งตั้ง เพื่อดูแลพระบรมธาตุเมืองนคร ซึ่งจะพบชื่อตำแหน่งนี้ในหัวเมืองปักษ์ใต้ที่มีพระบรมธาตุ เช่น ไชยา นครศรีธรรมราช พัทลุง ) และอีก 2 รูป ( ไม่ปรากฏนาม ) ส่วนอีกรูปเป็นพระภิกษุที่มาทีหลังสุด เมื่อเลิกประชุมแล้ว เพื่อให้สามารถแสดงธรรมในวันทั้งเจ็ด จึงทรงให้ชื่อ ตำแหน่งว่า " กาหลอ " ตามคำบอกเล่าของผู้ให้ความรู้ว่า " หลอ " หมายถึง " ขาด " หรือไม่มาประชุม เมื่อพระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานแล้ว พระภิกษุทั้ง 7 รูปมาประชุมพร้อมกันว่าจะจัดอะไรเป็นพุทธบูชาพระบรมศพ ท่านกาเดิมได้คิดทำปี่ขึ้นมาเลาหนึ่ง ท่านการามคิดทำโทน ( ทน ) ขึ้นมา ท่านกาแก้วคิดทำโทนเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ใบ ส่วนท่านกาชาดคิดทำฆ้องขึ้นมา แล้วใช้เครื่องดนตรีเหล่านี้ตีบรรเลงแห่นำพระบรมศพของพระพุทธเจ้า และครั้งนั้นนับเป็นการบรรเลงหรือแสดงกาหลอครั้งแรกเครื่องดนตรีกาหลอ 1. ปี่กาหลอ ปี่กาหลอมี 7 รู มากกว่ารูปี่ไฉน 1 รู คือรูปี่ไฉนหรือปี่ชวามี 6 รู รูข้างใต้เรียกว่า " ทองรี " เวลานำศพเคลื่อนออกจากบ้านห้ามไม่ให้มีเสียงรูทองรีออกมา 2. โทน โทนมี 2 ใบ เรียกโทนยืนกับโทนหลัก โทนยืนเป็นโทนที่ใช้ตีเป็นตัวยืนในการบรรเลง ส่วนโทนหลัก เป็นโทนที่ใช้คอยตีหลัก ตีหยอก เพื่อให้เกิดความสนุกยิ่งขึ้น 3. ฆ้อง แต่เดิมมี 2 ใบ แต่มาในระยะหลัง ๆใช้เพียงใบเดียว และมักเลือกฆ้องที่มีเสียงก้องกังวาลเสียงดังไปไกลเพลงกาหลอ เพลงที่คณะกาหลอใช้บรรเลงนั้นมีทั้งหมด 12 เพลง คือ เพลงสร้อยทอง เพลงจุดไต้ เพลงสุริยัน เพลงคุมพล เพลงทองศรี เพลงแสงทอง เพลงนกเปล้า เพลงทองท่อม เพลงตั้งซาก ( ศพ ) เพลงยายแก่ เพลงโก้ลม เพลงสร้อย และเพลงซัดผ้า การบรรเลงเพลงกาหลอนั้นก็เป็นไปตามความเชื่อ เช่น ตอนไหว้ครูใช้เพลงสร้อยทอง เพลงจุดไต้ เพลงสุริยัน เพลงคุมพล เวลานำศพเคลื่อนไปที่สามสร้าง ( เชิงกราน - เชิงตะกอน ) จะบรรเลงเพลงตั้งซาก เพลงยายแก่ บรรเลงเพื่อขอไฟจากยายแก่มาจุดเผาศพ เพลงโก้ลม ( เรียกลม ) บรรเลงเพื่อขอลมให้มาช่วยพัดกระพือไฟให้ติดดีขึ้น เพลงสร้อย เพลงซัดผ้า จะบรรเลงตอนซัดผ้าข้ามโลงศพขณะจุดไฟเผาศพ ตอนกลางคืนใช้เพลงทองศรี ตอนเช้าใช้เพลงนกเปล้า เพลงแสงทอง บางคณะบอกว่าตั้งแต่เพลงที่ 1 - 12 จะใช้บรรเลงเฉพาะตอนนำศพไปป่าช้าเท่านั้น โอกาสอื่นจะไม่บรรเลง ซึ่งเรื่องนี้แล้วแต่ความเชื่อของกาหลอแต่ละคณะ และในแต่ละท้องถิ่นมักจะแตกต่างกันออกไปการแสดงและโรงพิธี กาหลอจะต้องมีโรงแสดงโดยเฉพาะ และต้องสร้างตามแบบที่เชื่อถือกัน หากสร้างผิดแบบกาหลอจะไม่ยอมแสดง การปลูกสร้างโรงกาหลอ ต้องให้ประตูที่เข้าสู่โรงอยู่ทางทิศใต้ มีเสาจำนวนหกเสา มีเสาดั้ง เสาสี่เสานั้นแต่ละข้างให้ใช้ขื่อได้ แต่ส่วนกลางไม่ให้ใช้ขื่อ หลังคามุงด้วยจากหรือแชง ส่วนพื้นจะยกสูงไม่ได้ ใช้ไม้ทำเป็นหมอนทอดบนพื้น แล้วหาไม้กระดานมาปูเรียบเป็นพื้น ส่วนแปทูบ้านเจ้าภาพจะตรงกับแปทูโรงกาหลอไม่ได้ เมื่อคณะกาหลอมาถึงไปถึงจะตรวจโรงพิธี หากเรียบร้อยดีก็จะเข้าไปภายในโรงพิธี หากตรวจแล้วพบข้อผิดพลาดแม้เพียงนิดเดียว ก็จะต้องให้เจ้าภาพแก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน คณะกาหลอจึงจะเข้าไป การเดินเข้าโรงพิธี จะให้นายปี่ซึ่งถือว่าเป็นนายโรงเดินนำหน้าพาคณะเข้าไป นายปี่จะเดินไปที่ห้องของตัว ส่วนผู้ตีฆ้องและนายโทน จะหยุดอยู่แค่ห้องของตัว จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือล่วงล้ำเข้าไปในห้องนายปี่ไม่ได้ คือ นายปี่อยู่ห้องหนึ่ง ส่วนนายโทนและผู้ที่ตีฆ้องอยู่รวมกันอีกห้องหนึ่ง เมื่อเข้าไปในโรงพิธีแล้ว หากยังไม่ถึงเวลา ( เลยเที่ยงวัน ) จะออกไปไหนมาไหนไม่ได้ ( บางคณะก็ไม่เคร่งครัดนัก ) แต่มีข้อห้ามว่า นอกจากหมากพลูและบุหรี่แล้ว ห้ามมิให้บริโภคสิ่งใดภายนอกโรงพิธีเป็นเด็ดขาด หากจะบริโภคต้องนำเข้าไปบริโภคภายในโรงพิธีและห้ามยุ่งเกี่ยวกับผู้หญิงในทางชู้สาว เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ก่อนลงมือแสดง เจ้าภาพจะต้องจัดเตรียมจัด " ที่สิบสอง " หมายถึงอาหารหวานคาว ได้แก่ ข้าว แกง เหล้า น้ำ ขนม ฯ ล ฯ จัดใส่ถ้วยใบเล็ก ๆ วางไว้ในภาชนะ ( ถาด ) ให้ครบ 12 อย่าง เหมือนการจัดสำรับกับข้าวของไทยสมัยก่อน และที่ถ้วยทุกใบจะมีเทียนไขเล่มเล็ก ๆปักอยู่ อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า " เครื่องราชย์ " มีเงิน 12 บาท หมาก 9 คำ ด้ายริ้ว 3 ริ้ว ข้าวสาร เทียนไข 1 เล่ม ทุกอย่างใส่รวมกันใน " สอบหมาก " ( ลักษณะคล้ายกระสอบ แต่มีขนาดเล็ก เป็นภาชนะใส่หมากพลูของคนเฒ่าคนแก่ทางปักษ์ใต้เมื่อสมัยก่อน ) เมื่อนายโรงได้ที่สิบสอง และเครื่องราชย์มาแล้วก็จะทำพิธีบวงสรวงครูบาอาจารย์ รำลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วลงมือแสดง เริ่มต้นด้วยเพลงไหว้ครู คือเพลงสร้อยทองและเพลงอื่น ๆ

ไม่มีความคิดเห็น: