วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

บาสเกตบอล

บาสเกตบอล (อังกฤษ: basketball) เป็นกีฬาชนิดหนึ่งซึ่งแบ่งผู้เล่นเป็น 2 ทีม แต่ละทีมประกอบด้วยผู้เล่น 5 คนพยายามทำคะแนนโดยการโยนลูกเข้าห่วงหรือตะกร้า (basket) ภายใต้กติกาการเล่นมาตรฐาน
ตั้งแต่ที่คิดค้นขึ้นในปี พ.ศ. 2434 (ค.ศ. 1891) โดยเจมส์ ไนสมิท บาสเกตบอลได้ถูกพัฒนาขึ้นเป็นกีฬาสากล กีฬานี้มีจุดเริ่มต้นจากในวายเอ็มซีเอ ลีกที่เกิดขึ้นในสมัยแรก ๆ เป็นระดับมหาวิทยาลัย ต่อมากลายเป็นกีฬาอาชีพ มีการจัดตั้งลีกเอ็นบีเอ (National Basketball Association, NBA) และเริ่มมีการแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกเมื่อ พ.ศ. 2479 (ค.ศ. 1936) ถึงแม้ว่าในระยะแรกยังเป็นกีฬาที่เล่นเฉพาะในสหรัฐอเมริกา กีฬาชนิดนี้แพร่ขยายไปสู่ระดับสากลด้วยความรวดเร็ว ปัจจุบันมีนักกีฬาและทีมที่มีชื่อเสียงตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลก
บาสเกตบอลเป็นกีฬาที่เล่นในร่มเป็นหลัก สนามที่ใช้เล่นมีขนาดค่อนข้างเล็ก คะแนนจะได้จากการโยนลูกเข้าห่วงจากด้านบน (เรียกว่า ชู้ต, shoot) ทีมที่มีคะแนนมากกว่าในตอนจบเกมจะเป็นฝ่ายชนะ สามารถนำพาลูกโดยการกระเด้งกับพื้น (เลี้ยงลูก, dribble) หรือส่งลูกกันระหว่างเพื่อนร่วมทีม เกมจะห้ามการกระทบกระแทกที่ทำให้เป็นฝ่ายได้เปรียบ (ฟาล์ว, foul) และมีกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการครองบอล
เกมบาสเกตบอลมีการพัฒนาเทคนิคการเล่นต่าง ๆ เช่น การชู้ต การส่ง และ การเลี้ยงลูก รวมไปถึงตำแหน่งผู้เล่น (ซึ่งตามกฎแล้วไม่จำเป็นต้องมี) และตำแหน่งการยืนในเกมรุกและเกมรับ ผู้เล่นที่ตัวสูงถือเป็นข้อได้เปรียบ ถึงแม้ว่าในการเล่นแข่งขันจะควบคุมโดยกฎกติกา การเล่นรูปแบบอื่น ๆ สำหรับเล่นผ่อนคลายก็มีการคิดขึ้น บาสเกตบอลยังเป็นกีฬาที่คนนิยมดูอีกด้วย
http://th.wikipedia.org/wiki/

กาหลอ

กาหลอ
เป็นการละเล่นของชาวปักษ์ใต้อีกอย่างหนึ่ง เท่าที่พบในพัทลุง จะเป็นดนตรีที่ใช้ละเล่นหรือประโคมในงานศพ ในหนังสือพจนะสารานุกรมของ อาจารย์เปลื้อง ณ นคร ได้ให้ความหมายของกาหลอไว้ว่า " กาหลอเป็นดนตรีชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับประโคมในงานศพ " แต่มีบางท่านกล่าวว่า " กาหลอเป็นงานแห่ในวันสงกรานต์ เพื่อความรื่นเริง และแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อผู้บังเกิดเกล้าของตน " อาจารย์ฤตวิทย์ ดวงสร้อยทอง เขียนเรื่อง " กาหลอดนตรีงานศพ " ในวารสาร มศว.สงขลา ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 เอาไว้ตอนหนึ่งว่า " กาหลอเป็นการละเล่นประกอบเครื่องดนตรี ซึ่งมักจะเล่นเฉพาะในงานศพ ทำนองเดียวกันกับการสวดคฤหัสถ์หรือสวดมาลัย เข้าใจว่าคงนิยมเหมือนกับการเล่นซอพื้นเมืองของภาคเหนือ ซึ่งเดิมก็เล่นเฉพาะในงานศพ การเล่นเป็นการเล่นที่สนุกสนาน และต้องมีฝีมือในการร้อง และดนตรีโดยเฉพาะปี่กาหลอเป็นพิเศษ "ความเป็นมาของกาหลอ ความเชื่อเรื่องกาหลอ หรือตำนานกาหลอในหนังสือ " ตะลุง " ของ อาจารย์สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ กล่าวเอาไว้ว่า " มีการละเล่นอีกอย่างหนึ่งที่น่าจะได้มาจากชาวมลายู ยุคอารยะธรรมฮินดูเจริญเช่นกัน คือ การเล่น " กาหลอ " ซึ่งเป็นดนตรีบรรเลงแต่เฉพาะงานศพเท่านั้น คำว่า " กาหลอ " น่าจะมาจาก " กาล " หรือ " พระกาฬ " ( สำเนียงมลายูถิ่น จะออกเสียงเป็นกาลอ ) หมายถึงพระอิศวร ซึ่งเป็นเทพแห่งความตาย คู่กับเจ้าแม่กาลี ( ชาวภาคใต้เรียกคู่กันว่า กาหลา กาหลี ) เครื่องดนตรีก็เป็นแบบมลายู แต่ไม่พบว่ามลายูเล่นดนตรีแบบนี้ ในยุคศาสนาอิสลาม เพราะประเพณีของอิสลาม จะไม่เก็บศพไว้จนค้างคืน ตายวันไหนรีบนำไปฝังวันนั้น " จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า เดิมรับมาจากชวา มลายู แต่ตอนหลังเขาเลิกเล่น แต่ของไทยยังคงรักษาไว้ได้ ตำนานกาหลอซึ่งเล่าโดยผู้เล่นกาหลอ 2 ท่าน คือ นายเนื่อง เย็นทั่ว ต.หานโพธิ์ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง กับ นายเพิ่ม เย็นทั่ว ต.ควนขนุน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ในเรื่อง " กาหลอดนตรีงานศพ " ของ อาจารย์ฤตวิทย์ ดวงสร้อยทอง ตามที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า " เชื่อกันว่า กาหลอเป็นเสียงฆ้องกลองสวรรค์ ทั้งนี้เพราะมีความเชื่อกันว่า สมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ณ วัดแห่งหนึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ จากลานวัดมีบันไดทอดลงไปในแม่น้ำ สำหรับพระภิกษุชำระร่างกาย มีเด็กวัด 2 คนเป็นเด็กซุกซนมาก ชอบมาใช้บันไดท่าน้ำมากกว่าคนอื่น ๆ พระอธิการวัดได้ห้ามปรามแล้ว แต่เด็กไม่เชื่อฟัง ท่านจึงนำเอา " หลาว " ไปปักไว้ แต่เด็กที่ไปเล่นที่ท่าน้ำก็มิได้ถูกหลาวตำ ต่อมา พระอธิการรู้สึกร้อนจัด ได้กระโดดลงไปในน้ำทันที โดยลืมเรื่องหลาวที่ท่านปักเอาไว้ หลาวอันนั้นก็ตำถูกตรงหน้าอกท่าน พระภิกษุลูกวัดได้พยายามช่วยเหลือแต่ไม่สำเร็จ จึงไปทูลพระพุทธเจ้า ๆ จึงเสด็จไปดึงพระอธิการพร้อมหลาวเหล็กขึ้นมา และเรียกประชุมสงฆ์ภายในวัดนั้น เพื่อแสดงภูมิรู้และพระธรรมวินัย เมื่อทราบถึงความรู้ความสามารถของพระภิกษุ พระพุทธองค์จึงทรงแต่งตั้งภิกษุเหล่านั้นตามความรู้ความสามารถ คือ เป็นท่านกาแก้ว ท่านการาม ท่านกาชาด และท่านกาเดิม ( ตำแหน่งทั้ง 4 เป็นตำแหน่งพระครูผู้ช่วยรักษาพระบรมธาตุทั้ง 4 ทิศ โดยเชื่อว่า พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ทรงเป็นผู้แต่งตั้ง เพื่อดูแลพระบรมธาตุเมืองนคร ซึ่งจะพบชื่อตำแหน่งนี้ในหัวเมืองปักษ์ใต้ที่มีพระบรมธาตุ เช่น ไชยา นครศรีธรรมราช พัทลุง ) และอีก 2 รูป ( ไม่ปรากฏนาม ) ส่วนอีกรูปเป็นพระภิกษุที่มาทีหลังสุด เมื่อเลิกประชุมแล้ว เพื่อให้สามารถแสดงธรรมในวันทั้งเจ็ด จึงทรงให้ชื่อ ตำแหน่งว่า " กาหลอ " ตามคำบอกเล่าของผู้ให้ความรู้ว่า " หลอ " หมายถึง " ขาด " หรือไม่มาประชุม เมื่อพระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานแล้ว พระภิกษุทั้ง 7 รูปมาประชุมพร้อมกันว่าจะจัดอะไรเป็นพุทธบูชาพระบรมศพ ท่านกาเดิมได้คิดทำปี่ขึ้นมาเลาหนึ่ง ท่านการามคิดทำโทน ( ทน ) ขึ้นมา ท่านกาแก้วคิดทำโทนเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ใบ ส่วนท่านกาชาดคิดทำฆ้องขึ้นมา แล้วใช้เครื่องดนตรีเหล่านี้ตีบรรเลงแห่นำพระบรมศพของพระพุทธเจ้า และครั้งนั้นนับเป็นการบรรเลงหรือแสดงกาหลอครั้งแรกเครื่องดนตรีกาหลอ 1. ปี่กาหลอ ปี่กาหลอมี 7 รู มากกว่ารูปี่ไฉน 1 รู คือรูปี่ไฉนหรือปี่ชวามี 6 รู รูข้างใต้เรียกว่า " ทองรี " เวลานำศพเคลื่อนออกจากบ้านห้ามไม่ให้มีเสียงรูทองรีออกมา 2. โทน โทนมี 2 ใบ เรียกโทนยืนกับโทนหลัก โทนยืนเป็นโทนที่ใช้ตีเป็นตัวยืนในการบรรเลง ส่วนโทนหลัก เป็นโทนที่ใช้คอยตีหลัก ตีหยอก เพื่อให้เกิดความสนุกยิ่งขึ้น 3. ฆ้อง แต่เดิมมี 2 ใบ แต่มาในระยะหลัง ๆใช้เพียงใบเดียว และมักเลือกฆ้องที่มีเสียงก้องกังวาลเสียงดังไปไกลเพลงกาหลอ เพลงที่คณะกาหลอใช้บรรเลงนั้นมีทั้งหมด 12 เพลง คือ เพลงสร้อยทอง เพลงจุดไต้ เพลงสุริยัน เพลงคุมพล เพลงทองศรี เพลงแสงทอง เพลงนกเปล้า เพลงทองท่อม เพลงตั้งซาก ( ศพ ) เพลงยายแก่ เพลงโก้ลม เพลงสร้อย และเพลงซัดผ้า การบรรเลงเพลงกาหลอนั้นก็เป็นไปตามความเชื่อ เช่น ตอนไหว้ครูใช้เพลงสร้อยทอง เพลงจุดไต้ เพลงสุริยัน เพลงคุมพล เวลานำศพเคลื่อนไปที่สามสร้าง ( เชิงกราน - เชิงตะกอน ) จะบรรเลงเพลงตั้งซาก เพลงยายแก่ บรรเลงเพื่อขอไฟจากยายแก่มาจุดเผาศพ เพลงโก้ลม ( เรียกลม ) บรรเลงเพื่อขอลมให้มาช่วยพัดกระพือไฟให้ติดดีขึ้น เพลงสร้อย เพลงซัดผ้า จะบรรเลงตอนซัดผ้าข้ามโลงศพขณะจุดไฟเผาศพ ตอนกลางคืนใช้เพลงทองศรี ตอนเช้าใช้เพลงนกเปล้า เพลงแสงทอง บางคณะบอกว่าตั้งแต่เพลงที่ 1 - 12 จะใช้บรรเลงเฉพาะตอนนำศพไปป่าช้าเท่านั้น โอกาสอื่นจะไม่บรรเลง ซึ่งเรื่องนี้แล้วแต่ความเชื่อของกาหลอแต่ละคณะ และในแต่ละท้องถิ่นมักจะแตกต่างกันออกไปการแสดงและโรงพิธี กาหลอจะต้องมีโรงแสดงโดยเฉพาะ และต้องสร้างตามแบบที่เชื่อถือกัน หากสร้างผิดแบบกาหลอจะไม่ยอมแสดง การปลูกสร้างโรงกาหลอ ต้องให้ประตูที่เข้าสู่โรงอยู่ทางทิศใต้ มีเสาจำนวนหกเสา มีเสาดั้ง เสาสี่เสานั้นแต่ละข้างให้ใช้ขื่อได้ แต่ส่วนกลางไม่ให้ใช้ขื่อ หลังคามุงด้วยจากหรือแชง ส่วนพื้นจะยกสูงไม่ได้ ใช้ไม้ทำเป็นหมอนทอดบนพื้น แล้วหาไม้กระดานมาปูเรียบเป็นพื้น ส่วนแปทูบ้านเจ้าภาพจะตรงกับแปทูโรงกาหลอไม่ได้ เมื่อคณะกาหลอมาถึงไปถึงจะตรวจโรงพิธี หากเรียบร้อยดีก็จะเข้าไปภายในโรงพิธี หากตรวจแล้วพบข้อผิดพลาดแม้เพียงนิดเดียว ก็จะต้องให้เจ้าภาพแก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน คณะกาหลอจึงจะเข้าไป การเดินเข้าโรงพิธี จะให้นายปี่ซึ่งถือว่าเป็นนายโรงเดินนำหน้าพาคณะเข้าไป นายปี่จะเดินไปที่ห้องของตัว ส่วนผู้ตีฆ้องและนายโทน จะหยุดอยู่แค่ห้องของตัว จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือล่วงล้ำเข้าไปในห้องนายปี่ไม่ได้ คือ นายปี่อยู่ห้องหนึ่ง ส่วนนายโทนและผู้ที่ตีฆ้องอยู่รวมกันอีกห้องหนึ่ง เมื่อเข้าไปในโรงพิธีแล้ว หากยังไม่ถึงเวลา ( เลยเที่ยงวัน ) จะออกไปไหนมาไหนไม่ได้ ( บางคณะก็ไม่เคร่งครัดนัก ) แต่มีข้อห้ามว่า นอกจากหมากพลูและบุหรี่แล้ว ห้ามมิให้บริโภคสิ่งใดภายนอกโรงพิธีเป็นเด็ดขาด หากจะบริโภคต้องนำเข้าไปบริโภคภายในโรงพิธีและห้ามยุ่งเกี่ยวกับผู้หญิงในทางชู้สาว เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ก่อนลงมือแสดง เจ้าภาพจะต้องจัดเตรียมจัด " ที่สิบสอง " หมายถึงอาหารหวานคาว ได้แก่ ข้าว แกง เหล้า น้ำ ขนม ฯ ล ฯ จัดใส่ถ้วยใบเล็ก ๆ วางไว้ในภาชนะ ( ถาด ) ให้ครบ 12 อย่าง เหมือนการจัดสำรับกับข้าวของไทยสมัยก่อน และที่ถ้วยทุกใบจะมีเทียนไขเล่มเล็ก ๆปักอยู่ อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า " เครื่องราชย์ " มีเงิน 12 บาท หมาก 9 คำ ด้ายริ้ว 3 ริ้ว ข้าวสาร เทียนไข 1 เล่ม ทุกอย่างใส่รวมกันใน " สอบหมาก " ( ลักษณะคล้ายกระสอบ แต่มีขนาดเล็ก เป็นภาชนะใส่หมากพลูของคนเฒ่าคนแก่ทางปักษ์ใต้เมื่อสมัยก่อน ) เมื่อนายโรงได้ที่สิบสอง และเครื่องราชย์มาแล้วก็จะทำพิธีบวงสรวงครูบาอาจารย์ รำลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วลงมือแสดง เริ่มต้นด้วยเพลงไหว้ครู คือเพลงสร้อยทองและเพลงอื่น ๆ

วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

กรุ๊ปเลือด

หมู่โลหิต หรือ กรุ๊ปเลือด (blood type หรือ blood Group) คือ การแยกแยะเลือดเป็นหมวดหมู่ โดยทั่วไปที่ใช้มีสองระบบคือ ABO System และ Rh System โดยจำแนกตาม Antigen บนเม็ดเลือดแดงที่มีอยู่

ระบบ
ABO System จะแบ่งออกได้ สี่กรุ๊ปคือ A , B , AB และ O (Group O พบมากที่สุด, A กับ B พบพอๆ กัน และ AB มีน้อยที่สุด)
Rh System จะรายงานได้เป็นสองพวก
+ve หรือ Rh+ve คือ พวกที่มี Rh (Rhesus) Antigen บนเม็ดเลือดแดง พวกนี้พบได้มากเกือบทั้งหมดของคนไทยเป็นพวกนี้
-ve หรือ Rh-ve คือ พวกที่ไม่มี Rh (Rhesus) Antigen บนเม็ดเลือดแดง พวกนี้พบได้น้อยมาก คนไทยเราพบเลือดพวกนี้ แค่ 0.3%เป็นพวกที่บางครั้งเรียกว่า ผู้มีโลหิตหมู่พิเศษ จะพบได้มากขึ้นในชาวไทยซิกข์ (แต่ในคนพวกนั้น แม้ว่าจะมี Rh-ve มากกว่าคนไทยปกติ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นพวก Rh +veอยู่ดี)
ตัวอย่างการรายงานกลุ่มเลือดเช่น A+ve คือ เลือดกรุ๊ป A Rh+ve ตามปกติ AB-ve อันนี้เป็น กรุ๊ป AB และ เป็นหมู่เลือดพิเศษ Rh-ve ซึ่งหายากที่สุด ปกติ AB ในคนไทยพบน้อยกว่า 5% ถ้าเป็น AB-ve นี่ พบแค่ 1.5 คน ในหมื่นคนเท่านั้น
มารดาและบุตรในครรภ์ หากกลุ่มเลือด Rh System ไม่ตรงกัน (เกิดน้อยมากในคนไทย) มีโอกาสทำให้เกิดโรคแทกซ้อนได้ เช่น ภาวะตัวตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด

อ้างอิงมาจาก www.http://th.wikipedia.org

ประเทศไทย

ประเทศไทย (Thailand) หรือ ราชอาณาจักรไทย (Kingdom of Thailand) ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนทางทิศตะวันออกติดลาวและกัมพูชา ทิศใต้ติดอ่าวไทยและมาเลเซีย ทิศตะวันตกติดทะเลอันดามันและพม่า และทิศเหนือติดพม่าและลาว โดยมีแม่น้ำโขงกั้นเป็นบางช่วง
ประเทศไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ เอเปค และ อาเซียน มีศูนย์รวมการปกครองอยู่ที่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ ในฐานะประมุขแห่งรัฐ ยาวนานที่สุดในโลกถึง 60 ปี
ปัจจุบัน ประเทศไทยปกครองด้วย เผด็จการทหาร ก่อนจะเกิด การรัฐประหาร พ.ศ. 2549 มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

ชื่อประเทศไทย
คำว่า ไทย มีความหมายในภาษาไทยว่า อิสระ เสรีภาพ เดิมประเทศไทยใช้ชื่อ สยาม (Siam) แต่ได้เปลี่ยนมาเป็นชื่อปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2482 ตามประกาศรัฐนิยม ฉบับที่ 1 ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ใช้ชื่อ ประเทศ ประชาชน และสัญชาติว่า "ไทย" โดยในช่วงต่อมาได้เปลี่ยนกลับเป็นสยามเมื่อปี พ.ศ. 2488 ในช่วงเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี แต่ในที่สุดได้เปลี่ยนกลับมาชื่อไทยอีกครั้งในปี พ.ศ. 2491 ซึ่งเป็นช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยต่อมา ช่วงแรกเปลี่ยนเฉพาะชื่อภาษาไทยเท่านั้น ชื่อภาษาฝรั่งเศส[2]และอังกฤษคงยังเป็น "Siam" อยู่จนกระทั่งเดือนเมษายน พ.ศ. 2491 จึงได้เปลี่ยนชื่อภาษาฝรั่งเศสเป็น "Thaïlande" และภาษาอังกฤษเป็น "Thailand" อย่างในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ชื่อ สยาม ยังเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ
อ้างอิงจาก http://th.wikipedia.org/

คำมูล

คำมูล
คำที่เกิดจากการประสมของโครงสร้างคำ และเป็นคำที่มีความหมาย ผู้ฟังและผู้อ่านฟังแล้วอ่านแล้วเข้าใจว่าหมายถึงอะไร หรือสิ่งใด หรืออย่างไร คำนั้นจะเป็นคำไทย หรือคำที่มาจากภาษาอื่นก็ได้ เรียกว่า คำมูล ทั้งสิ้น
คำมูลแต่ละคำจะมีความหมาย คำมูลคำหนึ่งมักมีความหมายอย่างหนึ่ง แต่มีอยู่บ้างที่คำคำเดียว รูปลักษณ์อย่างเดียวมีหลายความหมาย เช่น ติด มีความหมายว่า ข้องอยู่ ไปไม่ได้ เกาะอยู่ ทำให้แน่น ฯลฯ หรือคำหลายคำมีรูปลักษณ์หลายอย่างแต่มีความหมายอย่างเดียว เช่น สตรี นารี ยุพา กัญญา หมายถึง ผู้หญิง
เราสามารถแบ่งคำมูลออกได้เป็น
· คำมูลพยางค์เดียว
· คำมูลหลายพยางค์
คำมูลพยางค์เดียว
คำที่เปล่งออกมาเพียงครั้งเดียว และมีความหมายชัดเจนในตัว เช่น รัก หลง ไม่ ไป เงิน จริง ปลอม ก๊ก ฟรี โชว์ เดิน
นาม คน ไก่ ข้าว ช้อน (ไทยแท้)
ครีม บุญ กรรม ก๊ก (มาจากภาษาอื่น)
สรรพนาม ฉัน เขา ท่าน สู ตู (ไทยแท้)
คุณ อั๊วะ ลื้อ (มาจากภาษาอื่น)
กริยา กิน นอน เห็น ยก (ไทยแท้)
เดิน เซ็ง โกรธ (มาจากภาษาอื่น)
วิเศษณ์ แดง ดำ นิ่ม คด (ไทยแท้)
ฟรี เก๋ เพ็ญ (มาจากภาษาอื่น)
บุพบท ใน นอก เหนือ ใต้ (ไทยแท้)
สันธาน แต่ และ ถ้า (ไทยแท้)
อุทาน โอ๊ย ว้าย (ไทยแท้)
ว้าว โธ่ (มาจากภาษาอื่น)



คำมูลหลายพยางค์
เป็นคำที่เปล่งออกมาเกิน 1 ครั้ง รวมกันจึงเข้าใจความหมาย ถ้าหากแยกเสียงที่เปล่งออกมาเป็นช่วง ๆ จะไม่มีความหมาย เช่น ประตู มะละกอ วิทยุ กระต่าย กระดาษ แจกัน
นาม กระจง ตะไคร้ จิ้งหรีด (ไทยแท้)
กุญแจ โซดา กะลาสี (มาจากภาษาอื่น)
สรรพนาม ดิฉัน กระผม กระหม่อม (ไทยแท้)
กริยา เขม่น กระหยิ่ม สะดุด ละล่ำละลัก (ไทยแท้)
เสวย บรรทม ประสูติ (มาจากภาษาอื่น)
วิเศษณ์ ตะลีตะลาน ถมึงทึง ทะมัดทะแมง (ไทยแท้)
ประเสริฐ จรัส ขจี (มาจากภาษาอื่น)
บุพบท,สันธาน กระทั่ง ฉะนั้น (ไทยแท้)
อุทาน อุเหม่ โอ้โฮ (ไทยแท้)
อนิจจา อพิโธ่ ปัดโธ่ (มาจากภาษาอื่น)
คำที่สร้างจากคำมูล
คำที่เกิดขึ้นโดยการสร้างคำจากคำมูล จะแบ่งตามรูปลักษณะได้ดังนี้
1. คำประสม
2. คำซ้อน
3. คำซ้ำ
4. คำสมาส – สนธิ











คำประสม
หลักสังเกตคำประสม

: สังเกตได้ดังนี้
1. เป็นคำเดียวโดด ๆ ซึ่งได้ความในตัวเอง
เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ หญ้า ฟ้า แม่ พ่อ ตา ย่า ยาย ฯลฯ
2. เป็นคำหลายพยางค์ แต่ถ้าแยกพยางค์เหล่านั้นออกจากกันแล้วจะไม่มีความหมายใช้ในภาษา หรือ ถ้ามีความหมายก็ไม่ใกล้เคียงกับคำที่รวมพยางค์อยู่ด้วยเลย
เช่น กระป๋อง กระถาง อาชญา ศิลปะ สายยู กุญแจ ฯลฯ
3. คำที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งแม้จะมีหลายพยางค์ก็จริง
เช่น เกาเหลา เซ่งจี้ เทนนิส แบดมินตัน โขมด กัลป์ปังหา นาฬิกา อัสดร ฯลฯ
: ส่วนคำประสมก็คือ...
คำประสม
วิธีสร้างคำประสมคือนำคำตั้งแต่สองคำขึ้นไป และเป็นคำที่มีความหมายต่างกันมาประสมกันเป็นคำใหม่โดยใช้คำที่มีลักษณะเด่นเป็นคำหลักหรือเป็นฐาน แล้วใช้คำที่มีลักษณะรองมาขยายไว้ข้างหลัง คำที่เกิดขึ้นใหม่มีความหมายใหม่ตามเค้าของคำเดิม (พวกความหมายตรง) แต่บางทีใช้คำที่มีน้ำหนักความหมายเท่า ๆ กันมาประสมกัน ทำให้เกิดความพิสดารขึ้น (พวกความหมายอุปมาอุปไมย) เช่น
1. พวกความหมายตรง และอุปมา (น้ำหนักคำไม่เท่ากัน)
· นาม + นาม เช่น
โรงรถ เรืออวน ขันหมาก
ข้าวหมาก น้ำปลา สวนสัตว์
· นาม + กริยา
เรือแจว บ้านพัก คานหาม
กล้วยปิ้ง ยาถ่าย ไข่ทอด
· นาม + วิเศษณ์
น้ำหวาน แกงจืด ยาดำ
ใจแคบ ปลาเค็ม หมูหวาน
· กริยา + กริยา
พัดโบก บุกเบิก เรียงพิมพ์
ห่อหมก รวบรวม ร้อยกรอง
· นาม + บุพบท หรือ สันธาน
วงใน ชั้นบน ของกลาง
ละครนอก หัวต่อ เบี้ยล่าง
· นาม + ลักษณะนาม หรือ สรรพนาม
ลำไพ่ ต้นหน คุณนาย
ดวงตา เพื่อนฝูง ลูกเธอ
· วิเศษณ์ + วิเศษณ์
หวานเย็น เปรี้ยวหวาน เขียวหวาน
· ใช้คำภาษาต่างประเทศประสมกับคำไทย เช่น
เหยือกน้ำ เหยือก เป็นคำภาษาอังกฤษ
โคถึก ถึก เป็นคำภาษาพม่า แปลว่า หนุ่ม
นาปรัง ปรัง เป็นคำภาษาเขมรแปลว่า ฤดูแล้ง
เก๋งจีน จีน เป็นภาษาจีน
พวงหรีด หรีด เป็นคำภาษาอังกฤษ
2. พวกความหมายอุปมาอุปไมย
คำประสมพวกนี้มักมีความหมายเป็นสำนวน และมักนำคำอื่นมาประกอบด้วย เช่น
หน้าตา ประกอบเป็น หน้าเฉย ตาเฉย นับหน้าถือตา เชิดหน้าชูตา
บางคำประสมกันแล้วหาคำอื่นมาประกอบให้สัมผัสคล้องจองตามวิธีของคนเจ้าบทเจ้ากลอนเพื่อให้ได้คำใหม่เป็นสำนวน เช่น
กอดจูบลูบคลำ คู่ผัวตัวเมีย จับมือถือแขน
เย็บปักถักร้อย หน้าใหญ่ใจโต ลูกเล็กเด็กแดง
ให้สังเกตว่าที่ยกมานี้คล้ายวลี ทุกคำในกลุ่มนี้มีความหมายแต่พูดให้คล้องจองกันจนเป็นสำนวนติดปาก แต่มีบางคำดังตัวอย่างต่อไปนี้ ที่บางตัวไม่มีความหมายเพียงแต่เสริมเข้าให้คล้องจองเท่านั้น เช่น
กำเริบเสิบสาน โกหกพกลม ขี้ปดมดเท็จ
รู้จักมักจี่ หลายปีดีดัก ติดสอยห้อยตาม
บางทีซ้ำเสียงตัวหน้าแล้วตามด้วยคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน ทำให้เป็นกลุ่มคำที่เป็นสำนวนขึ้น เช่น
ตามมีตามเกิด ตามบุญตามกรรม ขายหน้าขายตา
ติดอกติดใจ กินเลือดกินเนื้อ ฝากเนื้อฝากตัว

การประสมอักษร
การประสมอักษรแทนเสียง มีวิธีประสม 4 แบบ คือ
1. การประสม 3 ส่วน
2. การประสม 4 ส่วน
3. การประสม 4 ส่วนพิเศษ
4. การประสม 5 ส่วน

1. การประสม 3 ส่วน ประกอบด้วย พยัญชนะต้น สระ วรรณยุกต์
ตัวอย่าง นี้ - น เป็นพยัญชนะต้น
สระอี เป็นสระ
ไม้โท เป็นวรรณยุกต์
2. การประสม 4 ส่วน ประกอบด้วย พยัญชนะต้น สระ วรรณยุกต์ และพยัญชนะท้ายพยางค์(ตัวสะกด)
ตัวอย่าง ด้าน - ด เป็นพยัญชนะต้น
สระอา เป็นสระ
ไม้โท เป็นวรรณยุกต์
น เป็นพยัญชนะท้ายพยางค์ (ตัวสะกด)
3. การประสม 4 ส่วนพิเศษ ประกอบด้วย พยัญชนะต้น สระ วรรณยุกต์ และตัวการันต์
ตัวอย่าง เล่ห์ - ล เป็นพยัญชนะต้น
สระเอ เป็นสระ
ไม้เอก เป็นวรรณยุกต์
ห เป็นตัวการันต์
4. การประสม 5 ส่วน ประกอบด้วย พยัญชนะต้น สระ วรรณยุกต์ ตัวสะกด และตัวการันต์
ตัวอย่าง ศิลป์ - ศ เป็นพยัญชนะต้น
สระอิ เป็นสระ
ไม่ปรากฏรูปวรรณยุกต์
ล เป็นตัวสะกด
ป เป็นตัวการันต์


การสร้างคำด้วยวิธีประสมคำ
คำไทยเป็นคำโดด หรือคำพยางค์เดียว มีวิธีที่จะสร้างคำใหม่ด้วยการนำคำมาเรียงต่อกันเข้าให้มีความผิดแผกแปลกออกไปจากเดิม แต่การนำคำมาเรียงต่อกันเพื่อสร้างความหมายใหม่ของภาษาไทยมีลักษณะพิเศษออกไปก็คือ ฟังแล้วเห็นภาพหรือรู้จักหน้าที่ได้เลย คำแบบนี้หาได้ยากในภาษาอื่น คำประสมอาจจะมีคำโดดตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปถึง 4 คำมารวมเป็น 1 คำ
ตัวอย่าง
พระ – เจ้า – แผ่น – ดิน ผ้า – เช็ด – หน้า
รถ – ไฟ การ – เพาะ – ปลูก


การประสมคำไทยแท้
ในภาษาไทยมีคำประสมมาก อีกทั้งแต่ละคำยังบ่งความหมายชัดเจน หางคำยังมีความไพเราะ มีเสียงคล้องจองกันอีกด้วย โดยมีวิธีประสมคือ การเติมคำ
เติมคำ คือ การสร้างคำขึ้นใหม่ ด้วยวิธีเติมคำลงข้างหน้า
1.1 การสร้างคำนาม คือ สร้างคำนามให้เกิดขึ้นใหม่ด้วยวิธีเติมคำชนิดต่าง ๆ ลงข้างหน้า หลังคำนามเดิม
ก. นาม + กริยา
การสร้างคำด้วยการเติมคำกริยาลงข้างหลัง
ตัวอย่าง น้ำ + ใช้ น้ำ + เกิน
น้ำ + ตก น้ำ + ค้าง
ข. นาม + กริยา + นาม
การสร้างคำใหม่ด้วยการเติมคำกริยาและนามลงข้างหลัง
ตัวอย่าง ห้อง + รับประทาน + อาหาร คน + ขาย + ขนม
เครื่อง + ซัก + ผ้า ที่ + เขี่ย + บุหรี่
ค. นาม + นาม
การสร้างคำด้วยการเติมคำนามลงข้างหลังนาม เพื่อขยายนามหน้า
ตัวอย่าง น้ำ + ชา น้ำ + นม น้ำ + ปลา
ฟอง + น้ำ ไอ + น้ำ น้ำ + ตาล
ง. นาม + วิเศษณ์
การสร้างคำด้วยการเติมคำวิเศษณ์ลงข้างหลังนาม รวมเป็นคำเดียว
ตัวอย่าง น้ำ + มัน ของ + เหลว เงิน + สด
1.2 การสร้างคำกริยา คือ การสร้างคำกริยาขึ้นโดยเติมคำข้างหลังให้เป็นคำแสดงอาการอีกอย่างหนึ่ง
ก. กริยา + นาม
การสร้างคำด้วยการเติมนามลงข้างหลังกริยา ถือเป็นคำกริยา
ตัวอย่าง เข้า + ใจ ตั้ง + ต้น
ข. กริยา + กริยา (หรือวิเศษณ์ + วิเศษณ์ ในเมื่อวิเศษณ์ทำหน้าที่กริยา)
ตัวอย่าง ขน + ส่ง สวย + งาม
เปรี้ยว + หวาน เปลี่ยน + แปลง
ค. นาม + วิเศษณ์
การสร้างคำด้วยการเติมวิเศษณ์ลงข้างหลังนามรวมกันเป็นคำเดียวที่ทำหน้าที่กริยาหรือวิเศษณ์
ตัวอย่าง ใจ + กว้าง ปาก + หวาน หัว + แข็ง

















คำซ้อน
คำซ้อนที่มีเสียงพยัญชนะเดียวกัน ได้แก่ วนเวียน ชุกชุม ร่อแร่ ฯลฯ
คำซ้อนที่ใช้เสียงตรงข้าม ได้แก่ หนักเบา เป็นตาย มากน้อย ฯลฯ
คำซ้อนที่ใช้คำความหมายเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ได้แก่ บ้านเรือน อ้วนพี มากมาย ฯลฯ
คำซ้อน 4 คำ ที่มีคำที่ 1 และคำที่ 3 เป็นคำ ๆ เดียวกัน ได้แก่ ผู้หลักผู้ใหญ่ ร้อนอกร้อนใจ เข้าได้เข้าไป ฯลฯ
คำซ้อนที่เป็นกลุ่มคำมีเสียงสัมผัส ได้แก่ เก็บหอมรอมริบ ข้าวยากหมากแพง รู้จักมักคุ้น ฯลฯ
ความมุ่งหมายของการสร้างคำซ้อน
1. เพื่อเน้นความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยความหมายยังคงเดิม เช่น ใหม่เอี่ยม ละเอียดลออ เสื่อสาด
2. ทำให้เกิดความหมายใหม่ในเชิงอุปมาอุปไมย เช่น ตัดสิน เบิกบาน เกี่ยวข้อง
: แล้วเธอรูมั้ยว่าคำซ้อนเกิดจากอะไร ก็เกิดจากการซ้อน
หมายถึง การสร้างคำอีกรูปแบบหนึ่ง มีวิธีการเช่นเดียวกับการประสมคำ จึงอนุโลมให้เป็นคำประสมได้ ความแตกต่างระหว่างคำประสมทั่วไปกับคำซ้อน คือ คำซ้อนจะสร้างคำโดยนำคำที่มีความหมายคู่กันหรือใกล้เคียงกันมาซ้อนกัน คำที่มาซ้อนกันจะทำหน้าที่ขยายและไขความซึ่งกันและกันและทำให้เสียงกลมกลืนกันด้วย เช่น
การซ้อนคำ
เป็นการนำคำที่มีความหมายเหมือนกัน หรือคล้ายกัน หรือประเภทเดียวกันมาเรียงซ้อนกัน เมื่อซ้อนคำแล้วทำให้เกิดความหมายใหม่ขึ้น แต่ยังคงเค้าความหมายเดิมอยู่ หรือความหมายอาจไม่เปลี่ยนไป แต่ความหมายของคำหน้าจะชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น บ้านเรือน ทรัพย์สิน คับแคบ เป็นต้น คำที่เกิดจากซ้อนคำเช่นนี้เรียกว่าซ้อนคำ
1. คำที่ประกอบขึ้นด้วยคำ 2 คำขึ้นไปที่มีความหมายทำนองเดียวกัน เช่น จิตใจ ถ้วยชาม ข้าทาส ขับไล่ ขับกล่อม ค่างวด ฆ่าแกง หยูกยา เยียวยา แก่นสาร ทอดทิ้ง ท้วงติง แก้ไข ราบเรียบ เหนื่อยหน่าย ทำมาค้าขาย ชั่วนาตาปี
2. คำที่ประกอบขึ้นด้วยคำ 2 คำขึ้นไปที่มีความหมายตรงกันข้าม เช่น หอมเหม็น ถูกแพง หนักเบา ยากง่าย มีจน ถูกผิด ชั่วดีมีจน หน้าไหว้หลังหลอก
3. คำซ้อนที่ประกอบด้วยคำ 2 คำขึ้นไปที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะเสียงเดียวกันหรือมีเสียงสระเข้าคู่กัน เช่น เกะกะ เปะปะ รุ่งริ่ง โยกเยก กรอบแกรบ กรีดกราด ฟืดฟาด มากมายก่ายกอง อีลุ่ยฉุยแฉก
: หรืออาจจำแนกออกได้เป็น 2 ชนิดตามหน้าที่ ได้แก่
1. คำซ้อนเพื่อความหมาย
2. คำซ้อนเพื่อเสียง
วิธีซ้อนคำเพื่อเสียง
คำซ้อนเพื่อเสียง เป็นการนำคำที่มีความหมายคล้ายคลึงกันมาซ้อนกัน เพื่อให้ออกเสียงง่ายขึ้น และมีเสียงคล้องจองกัน ทำให้เกิดความไพเราะขึ้น คำซ้อนเพื่อเสียงนี้บางทีเรียกว่าคำคู่ หรือคำควบคู่
นำคำที่มีพยัญชนะต้นเดียวกัน แต่แตกต่างกันที่เสียงสระ นำมาซ้อนหรือควบคู่กัน เช่น
เร่อร่า เซ่อซ่า อ้อแอ้ จู้จี้
เงอะงะ จอแจ ร่อแร่ ชิงช้า
จริงจัง ทึกทัก หมองหมาง ตึงตัง
นำคำแรกที่มีความหมายมาซ้อนกับคำหลัง ซึ่งไม่มีความหมาย เพื่อให้คล้องจองและออกเสียงได้สะดวก โดยเสริมคำข้างหน้าหรือข้างหลังก็ได้ ทำให้เน้นความเน้นเสียงได้หนักแน่น โดยมากใช้ในคำพูด เช่น
กวาดแกวด กินแกน เดินแดน
มองเมิง ดีเด่ ไปเปย
นำคำที่มีพยัญชนะต้นต่างกันแต่เสียงสระเดียวมาซ้อนกันหรือควบคู่กัน เช่น
เบ้อเร่อ แร้นแค้น จิ้มลิ้ม
ออมชอม อ้างว้าง เรื่อยเจื้อย ราบคาบ
นำคำที่มีพยัญชนะต้นเหมือนกัน สระเสียงเดียวกัน แต่ตัวสะกดต่างกันมาซ้อนกัน หรือควบคู่กัน เช่น
ลักลั่น อัดอั้น หย็อกหย็อย
คำซ้อนบางคำ ใช้คำที่มีความหมายใกล้เคียงมาซ้อนกันและเพิ่มพยางค์เพื่อให้ออกเสียงสมดุลกัน เช่น
ขโมยโจร เป็น ขโมยขโจร
สะกิดเกา เป็น สะกิดสะเกา
จมูกปาก เป็น จมูกจปาก
คำซ้อนบางคำอาจจะเป็นคำซ้อนที่เป็นคำคู่ ซึ่งมี 4 คำ และมีสัมผัสคู่กลางหรือคำที่ 1 และคำที่ 3 ซ้ำกัน คำซ้อนในลักษณะนี้เป็นสำนวนไทย ความหมายของคำจะปรากฏที่คำหน้าหรือคำท้าย หรือปรากฏที่คำข้างหน้า 2 คำ ส่วนคำท้าย 2 ตัว ไม่ปรากฏความหมาย